24 กรกฎาคม 2552

พระอัจริยภาพจากการอ่าน


การเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ
“วิธีที่รู้ภาษาดีนั้น จะเรียนแต่เวลาเรียนจริงๆ เท่านั้นไม่พอ ต้องพยายามอ่านหนังสือ ถ้าคำใดไม่เข้าใจ ควรถามใครดูหรือดูใน dictionary ควรลองเทียบสำนวนที่แปลกๆ ดูกับภาษาไทย ลองแปลดูบ้าง ดังนี้ก็จะรู้ภาษาดีได้เร็ว”
(คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ๒๕๔๒ : ๕๙)
วิธีการเรียนภาษาจากการอ่านหนังสือนี้ ทรงปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ทรงพระอุตสาหะวิริยะในการทรงพระอักษร คืออ่านเขียนเพื่อฝึกการใช้ภาษาและในการแสวงหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โปรดการอ่านหนังสือภาษาไทยและต่างประเทศ แม้เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้วก็ยังทรงหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับเพื่อให้ทราบข่าวต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย ความสนพระทัยในการอ่าน ยังผลให้ทรงรอบรู้ศาสตร์หลายสาขาและทรงวิเคราะห์เรื่องราวสำคัญหลายเรื่องได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับพระคติที่ว่าการอ่าน เป็นหนทางเพิ่มความรู้และสติปัญญา นอกจากจะโปรดการทรงพระอักษรแล้ว ยังทรงสนับสนุนให้ประชาชนแสวงหาความรู้จากการอ่านหนังสือโดยโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดหนังสือที่แต่งดี และหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ทรงพระราชนิพนธ์คำนำด้วยพระองค์เอง นับเป็นการเผยแพร่สารสนเทศอันทรงคุณค่าให้ประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งหอพระสมุดวชิราวุธเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและหนังสือใหม่ และให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณมาอยู่บริเวณวังหน้า จัดเป็นที่รวบรวมหนังสือสมุดไทย ใบลาน จารึก และสมุดภาพเขียนเก่า หอพระสมุดทั้งสองแห่งนี้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า หอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น