24 กรกฎาคม 2552

การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ


ความหมายของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ(Critical Reading)
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ หรือ การอ่านอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ หรือ การอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์ หมายถึงการอ่านที่ผู้อ่านนำเอาวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณมาใช้ในการรับสารจากการอ่าน ทั้งนี้เพื่อประเมินสิ่งที่อ่านและตัดสินใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมีเหตุผลน่าเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด การอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นทักษะการอ่านขั้นสูงที่ผู้อ่านจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านเพื่อเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์วิจารณ์ในขั้นสูงต่อไป ทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของข้อมูลข่าวสารเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านรู้จักวิเคราะห์ ตรวจสอบ และเลือกรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล
ตัวอย่างความหมายของ "การคิดอย่างมีวิจารณญาณ" ที่มีผู้ให้คำนิยามไว้
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือการคิดอย่างมีเหตุผล ไตร่ตรอง เพื่อการตัดสินใจว่าสิ่งใดควรเชื่อและสิ่งใดควรทำ (Norris & Ennis, 1989)
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง การคิดที่ใช้เหตุผลในการคิดแบบไตร่ตรอง เพื่อตัดสินใจเชื่อหรือกระทำ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ การใช้เหตุผลเชิงอุปมาน การใช้เหตุผลเชิงอนุมาน การสังเกต การตีความ การตั้งสมมุติฐาน การพิจารณาความน่าเชื่อถือ การตัดสินคุณค่า และกลวิธีการแก้ปัญหา ( เอื้อญาติ ชูชื่น, 2535: 23)
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึงกระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อมูล หรือสถานการณ์ที่ปรากฏ โดยใช้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตนเองในการสำรวจหลักฐานอย่างรอบคอบเพื่อไปสู่ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล (เพ็ญพิศุทธิ์ เนคมานุรักษ์, 2536: 8)
การคิดวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง ความสามารถทางสมองของบุคคล ที่แสดงออกมาโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและตรึกตรองอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจที่จะเชื่อหรือกระทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ความสามารถย่อย คือ ความสามารถในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลและการสังเกต ความสามารถในการนิรนัย ความสามารถในการอุปนัย ความสามารถในการระบุข้อตกลงเบื้องต้น (ชาลิณี เอี่ยมศรี, 2536: 7)
ทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ หมายถึง ความสามารถในการคิดที่ใช้ทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการใช้เหตุผล ทักษะการประเมินข้อมูล และทักษะการเลือกและตัดสินใจอย่างผสมผสานจนได้ข้อสรุปหรือคำตอบ (บำรุง ใหญ่สูงเนิน, 2536: 8)
ความคิดเชิงวิจารณ์ (Critical Thinking) เป็นทัศนคติพื้นฐานและทักษะที่ช่วยให้ปัจเจกชนสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และมีหลักการในการเชื่อและการตัดสินใจ (โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, 2543: iii)
Critical thinking คือการคิดไตร่ตรองที่เน้นในเรื่องการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใด หรือจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ความหมายนี้ได้นับรวมเอาความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) เข้าไว้ในคำจำกัดความของ Critical thinking ด้วย (อำพร ไตรภัทร, 2543: 1)
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึงการทำงานของสมองที่มีการคิด พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อมูล หรือสภาพการณ์ที่ปรากฏ โดยใช้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตนเองในการสำรวจหลักฐานอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 7 ประการ
1. ความสามารถในการระบุประเด็นปัญหา เป็นความสามารถในการระบุหรือ ทำความเข้าใจโดยพิจารณาความหมาย ความชัดเจนของข้อมูล ข้อความ ข้ออ้าง หรือข้อโต้แย้ง หรือสถานการณ์ที่ปรากฏ เพื่อกำหนดข้อสงสัยและประเด็นหลักที่ควรพิจารณาและแสวงหาคำตอบ
2. ความสามารถในการรวบรวมข้อมูล เป็นความสามารถในการพิจารณาข้อ มูลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งได้จากการคิด การพูดคุย การสังเกต ทั้งจากตนเองและผู้อื่น รวมถึงการดึงข้อมูลจากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่
3. ความสามารถในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เป็นความ สามารถในการพิจารณา ประเมิน ตรวจสอบ ตัดสินข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยพิจารณาถึงที่มาของข้อมูล สถิติ และหลักฐานที่ปรากฏ
4. ความสามารถในการระบุลักษณะข้อมูล เป็นความสามารถในการจำแนกประเภทของข้อมูล ระบุแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลที่ปรากฏ ซึ่งประกอบด้วยความสามารถในการพิจารณาแยกแยะ เปรียบเทียบความต่างของข้อมูล การตีความ ประเมินว่าข้อมูลใดเป็นจริง ข้อมูลใดเป็นเท็จ รวมถึงการระบุข้อสันนิษฐานหรือข้อตกลงเบื้องต้นที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลที่ปรากฏ การนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่อาศัยข้อมูลจากประสบการณ์เดิมมาร่วมพิจารณาด้วย
5. ความสามารถในการตั้งสมมุติฐาน เป็นความสามารถในการพิจารณาถึง ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างข้อมูลที่มีอยู่ สังเคราะห์ จัดกลุ่ม และลำดับความสำคัญของข้อมูลเพื่อระบุทางเลือกที่เป็นไปได้ โดยเน้นที่ความสามารถพิจารณาเชื่อมโยงเหตุการณ์และสถานการณ์
6. ความสามารถในการลงข้อสรุป เป็นความสามารถในการพิจารณาอย่างมีเหตุ ผลเพื่อให้ข้อสรุปโดยใช้เหตุผลเชิงอุปนัย (Inductive Reasoning) หรือเหตุผลเชิง นิรนัย (Deductive Reasoning)
6.1 การสรุปความโดยใช้เหตุผลเชิงอุปนัย เป็นการสรุปความโดยพิจารณาข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่อง เพื่อนำไปสู่กฎเกณฑ์หรือหลักการ 6.2 การสรุปความโดยใช้เหตุผลเชิงนิรนัย เป็นการสรุปความโดยพิจารณาจากกฎเกณฑ์ และหลักการทั่วไป เพื่อไปสู่เรื่องเฉพาะหรือสถานการณ์ที่ปรากฏ
7. ความสามารถในการประเมินผล เป็นความสามารถในการพิจารณาประเมิน ความถูกต้อง สมเหตุสมผลของข้อสรุป จึงเกิดจากการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ใช้เหตุผลเชิงตรรกะ รวมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ การตัดสินคุณค่าและเหตุการณ์อย่างถูกต้อง (อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย, 2537: 12-13)
ทักษะการคิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ "ทักษะการคิดที่เป็นแกน" และ "ทักษะการคิดขั้นสูง" ส่วน "กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ" ประกอบด้วยจุดมุ่งหมายของการคิด และวิธีคิด (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ , 2540: 29-62)
ทักษะการคิดที่เป็นแกน (Core /General Thinking Skills)
หมายถึง ทักษะการคิดที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นฐานของการคิดชั้นสูงที่มีความสลับซับซ้อน ประกอบไปด้วย การสังเกต (Observing) การสำรวจ (Exploring) การตั้งคำถาม (Questioning) การเก็บรวบรวมข้อมูล (Information Gathering) การระบุ (Identifying) การจำแนกแยกแยะ (Discriminating) การจัดลำดับ (Ordering) การเปรียบเทียบ (Comparing) การจัดหมวดหมู่ (Classifying) การสรุปอ้างอิง (Inferring) การแปล (Translating) การตีความ (Interpreting) การเชื่อมโยง (Connecting) การขยายความ (Elaborating) การให้เหตุผล (Reasoning) และการสรุปย่อ (Summarizing)
ทักษะการคิดขั้นสูงหรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน ( Higher - ordered / More Complexed Thinking Skills)
หมายถึงทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายขั้น และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการคิดที่เป็นแกนหลาย ๆ ทักษะในแต่ละขั้น ทักษะการคิดขั้นสูงจึงจะพัฒนาได้เมื่อเด็กได้พัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานจนมีความชำนาญพอสมควรแล้ว ทักษะการคิดขั้นสูงประกอบด้วยทักษะย่อย ๆ ที่สำคัญดังนี้
1. การสรุปความ (Drawing Conclusion)
2. การให้คำจำกัดความ (Definition)
3. การวิเคราะห์ (Analyzing)
4. การผสมผสานข้อมูล (Integrating)
5. การจัดระบบความคิด (Organizing)
6. การสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Constructing)
7. การกำหนดโครงสร้าง (Structuring)
8. การแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างความรู้เสียใหม่ (Restructuring)
9. การค้นหาแบบแผน (Finding Patterns)
10. การหาความเชื่อพื้นฐาน (Finding Underlying Assumption)
11. การคาดคะเน / การพยากรณ์ (Predicting)
12. การตั้งสมมุติฐาน (Formulating Hypothesis)
13. การทดสอบสมมุติฐาน (Testing Hypothesis)
14. การตั้งเกณฑ์ (Establishing Criteria)
15. การพิสูจน์ความจริง (Verifying)
16. การประยุกต์ใช้ความรู้ (Applying)
กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณประกอบไปด้วย 1. จุดมุ่งหมายของการคิด 2. วิธีคิด
จุดมุ่งหมายของการคิด ผู้คิดอย่างมีวิจารณญาณมีความสามารถ ดังนี้
1. สามารถกำหนดเป้าหมายในการคิดอย่างถูกทาง
2. สามารถระบุประเด็นในการคิดได้อย่างชัดเจน
3. สามารถประมวลข้อมูล ทั้งทางด้านข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด ทั้งทางกว้าง ลึก และไกล
4. สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะใช้ในการคิดได้
5. สามารถประเมินข้อมูลได้
6. สามารถใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาข้อมูล และเสนอคำตอบ/ทางเลือก ที่สมเหตุสมผลได้
สามารถเลือกทางเลือก/ลงความเห็นในประเด็นที่คิดได้
วิธีคิด
1. ตั้งเป้าหมายในการคิด
2. ระบุประเด็นในการคิด
3. ประมวลข้อมูล ทั้งทางด้านข้อเท็จจริง ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่คิดทางกว้าง ลึก และไกล
4. วิเคราะห์ จำแนกแยกแยะข้อมูล จัดหมวดหมู่ข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะนำมาใช้
5. ประเมินข้อมูลที่จะใช้ในแง่ความถูกต้อง ความเพียงพอ และความน่าเชื่อถือ
6. ใช้หลักฐานในการพิจารณาข้อมูลเพื่อแสวงหาทางเลือก/คำตอบที่สมเหตุสมผลตามข้อมูลที่มี
7. เลือกทางเลือกที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงผลที่ตามมา และคุณค่าหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้น
8. ชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสีย คุณ - โทษ ในระยะสั้นและระยะยาว
9. ไตร่ตรอง ทบทวนกลับไปกลับมาให้รอบคอบ
10. ประเมินทางเลือกและลงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น