23 กรกฎาคม 2552

สำนวนไทย.. ไม่เก่าเลย


สำนวนไทย .. ไม่เก่าเลย

เพราะ “ภาษาไทย” .. ไม่ใช่เพียงแต่ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร

แต่เป็น รากเหง้า .. อันแสดงถึง ความเป็นมา และเป็นไป ของชาติไทยนี้ ..

เดือนเมษายน เดือนแห่งการกำเนิดของข้าพเจ้า ปกติ ก็เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิร้อนจัดอยู่แล้ว สำหรับปีนี้ .. เมื่อผนวกกับความแรง ของการเมืองช่วงนี้ด้วยแล้ว ความร้อนระอุ ยิ่งทับทวี ..

ในช่วงที่ผ่านมา .. ข้าพเจ้าแม้จะยุ่งอยู่กับงาน และการประชุมโครงการใหม่อันเกินบรรยาย แต่ก็ยังมีโอกาสได้ติดตามความเป็นไปของสังคม ความแตกแยก และความต้องการเอาชนะ ตลอดจน ความพยายาม ที่จะ Discredit ประเทศชาติ เพื่อก่อความเสียหายให้ชาติมากที่สุด ของคนเห็นแก่ตัว บางคนบางกลุ่ม

ก็นะ .. ในบรรดาคนทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีทั้ง คนที่ดี และคนที่ไม่ดี .. ปะปนกันมากหมาย อีกทั้งในบรรดา คนที่ถูกจำแนกว่า “เลว” หรือ “ไม่ดี” นั้น ก็ยังต้องแบ่งเป็นเลวแบบที่พอคุยได้ กับแบบที่หลับหูหลับตาเลว ก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ดังนั้น หากจะมองแค่สิ่งภายนอกอย่างสีเสื้อ แล้วตัดสิน ความดี หรือ ความเลว คงไม่ยุติธรรมสักเท่าใดนัก .. แต่ก็อดตัดสินไปแล้วไม่ได้

ว่าที่จริง .. ก่อนจะเขียนเรื่องนี้ ข้าพเจ้า นึกถึงเรื่องที่อดีตผู้นำหน้าเหลี่ยม ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตา ชิงพื้นที่สื่ออินเตอร์ อย่างไม่คิดถึงผลพวงอันจะตามมา ต่อบ้านเกิดเมืองนอน กันบ้างเลย ... ไม่ว่า จะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม .. ข้าพเจ้าเห็นแต่ความเสื่อม ความเสียหาย และเสียใจของทุกคน ในเบื้องต้น .. ข้าพเจ้า นึกถึงเพียงสำนวนไทย เพียงสำนวนหนึ่งคือ “หมาเห่าใบตองแห้ง” ..

หมาเห่า .. ใบตองแห้ง ความหมายว่า พูดเอะอะแสดงวาจาว่าเป็นคนเก่งกล้าไม่กลัวใคร แต่จริง ๆ แล้วกลับขี้ขลาด และไม่กล้าจริงดังปากเห่า

สำหรับสำนวนนี้ เป็นสำนวนที่มีการนำมาเปรียบเทียบกับ เจ้าสุนัข ที่ชอบเห่าใบตองแห้ง หรือก็คือใบกล้วยที่แห้งติดอยู่กับต้น เวลาลมพัดใบกล้วยแห้งจะแกว่งหรือเสียดสีกัน แกรกกราก สุนัขเห็นอะไรไหว ๆ หรือได้ยินเสียงแกรกกรากก็จะเห่าขึ้น แต่ก็เห่าไปอย่างนั้นเอง ไม่กล้าไปกัด ใบตองแห้ง กิริยาของสุนัขนี้จึงนำมาเปรียบกับคนที่ชอบพูดจาเอะอะในลักษณะที่อวดตัวว่าเก่งกล้า แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้กล้าสมกับคำพูด เช่น พวกนี้หมาเห่าใบตองแห้งทั้งนั้น ได้แต่ด่าเขาลับหลัง ถ้าเขาเอาเข้าจริง ก็ขี้คร้านจะหนีไม่ทัน

คำบรรยายที่ว่านั้น ข้าพเจ้าหาได้แต่งเติมเองแต่อย่างใด เพราะได้ไปยกมาจาก บทวิทยุ รายการ “รู้รักภาษาไทย” ที่ออกอากาศ ทุก ๆ เช้า มาแบบทั้งดุ้น ไม่น่าเชื่อ ก็คงต้องเชื่อนะคะ เพราะตรงกับความเป็นจริง แบบที่ ไม่ต้องอธิบายกันเลยทีเดียว .. ที่สำคัญ ข้าพเจ้าเชื่อว่า .. ไม่ต้องบอก ท่านทั้งหลาย ก็ต้องพอนึกหาตัวอย่าง รอบ ๆ ตัว ได้ไม่ยากเลย

“สำนวนไทย” .. ไม่ได้เป็นเพียงการกำหนดขึ้นมาใช้ลอย ๆ แต่ได้ผ่านการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าเป็นสิ่งที่แสดงความหมายได้จริง และเข้ากับทุกยุคสมัย แม้เราจะไม่สามารถหาที่มาเหล่านั้นได้ แต่ก็ทำให้ทราบว่า คนไทยนั้น เป็นผู้เจ้าบทเจ้ากลอน นิยมประดิษฐ์คำ ให้เป็นสำนวน โวหารงาม ๆ เมื่อยามเป็นนักเรียน .. เพื่อนบางคน อาจจะมีบ่นกันบ้าง หากต้องท่องจำสำนวนต่าง ๆ ให้ขึ้นใจ .. เพื่อทำข้อสอบภาษาไทยให้ได้ผลเลิศ

หากแต่ข้าพจ้ายามนี้ กลับรู้สึกขอบพระคุณ ครูบาอาจารย์เสียเหลือเกิน ที่บังคับให้พวกเราในวันนั้น เพราะหากปราศจากท่านเหล่านั้นแล้ว .. ข้าพเจ้าคงเป็นผู้ไร้รสนิยม ด้านภาษาไทย ของชาติตนเอง

ความงดงามของสำนวนไทย นอกจากจะทำให้จิตใจสำเหนียก ความผิด-ความถูก และความดีแล้ว ข้าพเจ้า ยังซึบซับว่า ความงามและความจริงแท้ของภาษาไทย ช่วยขัดเกลา อารมณ์ของเรา ให้อ่อนโยน และดีงามที่สุดอีกประการหนึ่งด้วย ...

ก่อนนั้น .. ในวันวานของข้าพเจ้า หากจะพูดถึง “สำนวนไทย” ข้าพเจ้ามักนึกถึง ความพากเพียร ก็ในวิชาภาษาไทย วันหนึ่ง .. คุณครู ให้แบ่งกลุ่มกัน และให้ออกมาวิพากษ์กัน แบบโต้วาทีเล็ก ๆ ว่า สำนวนต่อไปนี้ สำนวนไหน ที่แสดงถึงความพยายาม ต่อความยากลำบากมากกว่ากัน ...
“ฝนทั่งให้เป็นเข็ม”
"เข็นครกขึ้นภูเขา” และ
“งมเข็มในมหาสมุทร”
สำหรับท่านนั้น เห็นว่า สำนวนใดคะ ที่เป็นตัวแทน ความพยายามอย่างยิ่งยวด ...
. .
แต่ถ้าหากย้อนกลับมาในประเทศไทยวันนี้ .. ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นความสวยงาม แบบเก่าอีกแล้ว ที่เหลือตอนนี้ .. มีแต่เรื่องเน่า เรื่องเลวร้าย เรื่องรันทดท้อใจ .. ความเสื่อม และความน่ารังเกียจ อย่าง หมาจนตรอก น้ำผึ้งหยดเดียว ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง อะไรประมาณนี้

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาสำนวนไทย รวมสุภาษิตไทยทั้งหมด มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว ที่ข้าพเจ้า จดจำ ความหมาย ได้อย่างขึ้นใจ มาตั้งแต่เด็ก โดยหาเหตุผลใด ๆ ไม่ได้เลย

.. น้ำลดตอผุด .. เมื่อหมดอำนาจ ความชั่วก็ปรากฎ ..

ขอบคุณความหมายของ “หมาเห่าใบตองแห้ง”: http://www.sarapee.ac.th/index.php?name=Content&pa=showpage&pid=638

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น